วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นิทรรศการหนังสือ ดอนกิโฆเต้ฯ (นวนิยายที่ดีที่สุดในโลก)

ความเป็นม
เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2550 และโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรวิชาภาษาสเปน
สืบเนื่องจากหนังสือเรื่องดอนกิโฆเต้ฯ เป็นหนังสือเรื่องสำคัญที่สุดในภาษาสเปน ถือเป็นตัวแทนของประเทศสเปน และรวมถึงภาษาสเปน ดังพระราชดำรัสของกษัตริย์ ฆวน การ์ลอสที่ 1 แห่งราชอาณาจักรสเปน ในคราวเสด็จเยือนประเทศไทยเพื่อทรงแนะนำหนังสือเรื่องนี้ฉบับแปลภาษาไทยว่า “สเปนไม่มีฑูตวัฒนธรรมฅนใดดีไปกว่ามิเกล เด เซร์บันเตส และไม่มีสาส์นแนะนำใดล้ำเลิศยิ่งกว่าดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ผลงานอมตะของเขา- --“
ในด้านวรรณคดี นวนิยายเรื่องนี้นับได้ว่าเป็นนวนิยายเรื่องแรกของโลกและเป็นนวนิยายดีที่สุดในโลกจากการเลือกของนักเขียนรางวัลโนเบล 100 ฅน อีกทั้งองค์การยูเนสโกระบุว่าเป็นหนังสือที่มีผู้อ่านมากที่สุดในโลก และแปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลก รองจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ฯลฯ
    จึงเป็นการเหมาะควรที่จะจัดนิทรรศการหนังสือดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน ในวาระครบรอบ วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแถลงข่าวการเปิดหลักสูตรวิชาภาษาสเปนในโอกาสเดียวกัน รวมไปถึงการมอบรายได้แก่ สำนักหอสมุด สำหรับกิจกรรมบริการทางวิชาการแก่สังคม โครงการชนบทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แนะนำตัวละคร
      ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า
ขุนนางต่ำศักดิ์ผู้มีถิ่นกำเนิดที่ลามันช่า อายุห้าสิบปีเศษ
แข็งแรง ผอมเกร็ง แก้มตอบ ใช้เวลายามว่าง (คือเกือบทั้งปี) หมกมุ่นอ่านแต่นิยายอัศวิน
ด้วยคลั่งไคล้ใหลหลงอ่านเช้ายันค่ำ ค่ำยันเช้าจนถึงแก่เสียจริตในที่สุด
และตกลงใจเป็นอัศวินพเนจร เดินทางไปทั่วเพื่อกำจัดภัยพาล
อภิบาลสาวพรหมจารี ชำระล้างความอัปยศและอยุติธรรมในโลก
เขาเป็นอัศวินผู้กล้า  มั่นในรักสุดซึ้งและเขาเชื่อว่าชีวิตสุขสบาย บำเหน็จรางวัล และการพักผ่อนนั้น
มีไว้เพื่อข้าราชการสำนักผู้อ่อนแอ แต่อุปสรรค การครุ่นคิด ตลอดจนการศึกนั้น
สรรไว้เพื่อบุคคลที่โลกขนานนามว่า "อัศวินพเนจร"
ซานโช่ ปันซ่า
อัศวินสำรองของดอนกิโฆเต้
เป็นชาวนาที่ไม่มีสมองเท่าใดนัก ตัวเตี้ย พุงพลุ้ย
แต่ขายาวดุจไหกระเทียมต่อขา ขี้ตื่นและติดจะตาขาว
ปากมาก ไม่สำรวมวาจา ดอนกิโฆเต้ชักชวนให้ร่วมผจญภัย
โดยสัญญาจะให้ซานโช่ปกครองดินแดนมีน้ำล้อมรอบ
น้ำใจและความภักดีของซานโช่ทำให้ดอนกิโฆเต้ยกย่องว่า
'เป็นอัศวินสำรองสุดเลอเลิศผู้หนึ่งที่อัศวินพเนจรเคยมีมา'
เซร์บันเตสกล่าวในคำนำว่า อย่าขอบใจเขาเพราะแนะนำให้รู้จัก
ดอนกิโฆเต้ แต่ให้ขอบใจที่เขาแนะนำซานโช่ ปันซ่า
ซึ่ง 'เป็นเพชรน้ำเอกเหนืออัศวินสำรองทั้งปวง
เท่าที่เคยปรากฎในนิยายอัศวิน'
ดุลสิเนอา แห่งโตโบโซ่
นางในดวงใจของดอนกิโฆเต้
หญิงงามผู้สูงศักดิ์และเลอโฉมพิลาสหาใดเปรียบ
ดวงเนตรสีทองอำพัน เกศาเป็นประกายดุจทองคำ ผิวขาวปานหิมะ สองปรางแต้มสีกุหลาบ
ความงามและความดีของนางเลิศล้ำ
เหนือคำพรรณนาของกวีคนใด
วีรกรรมทั้งหมดของดอนกิโฆเต้อุทิศแด่นาง
ด้วยว่า 'อัศวินใดแม้ปราศจากความรักแล้วไซร้
ก็เปรียบประดุจร่างอันปราศจากวิญญา ดอนกิโฆเต้รำพันถึง
เจ้าหัวใจของเขาว่า 'โอ้! แม่หญิงดุล*สิเนอาแห่งโตโบโซ่ ผู้เป็นทิวในราตรี
ประทีปในความทุกข์ ดาวเหนือส่องนำทาง แลดารา
นำโชคแห่งชีวิตข้า----ดอนกิโฆเต้ (หน้า 266)
โรสินันเต้
ม้าคู่ใจของดอนกิโฆเต้า
เป็นม้าหย็องกรอด ผอมกระหร่อง มีแต่หนังหุ้มกระดูกดั่งฝีเท้าในท้องรุมเร้า
มีนิสัยเฉื่อยเนือย ยกขาหน้ากระโจนไม่เป็น
แต่ดอนกิโฆเต้กลับเห็นว่าเป็นยอดอาชา
ยิ่งกว่าม้าของจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์
นามโรสินันเต้ แปลว่า ‘ม้าที่เคยทุรลักษณ์’
ภายหลังมีผู้เขียนคำสดุดีว่าเป็น ‘ยอดอาชาคู่ขวัญ ยอดอัศวิน’
ฬาของซานโช่
พาหนะคู่ใจของซานโช่ เป็นฬาลักษณะดี
เมื่อซานโช่กลับถึงบ้าน
หลังจากออกผจญภัยกับดอนกิโฆเต้
และเจอหน้าเมีย สิ่งแรกที่เมียถามคือ
’ฬายังอยู่ดีหรือไม่’
อัลด็อนซ่า โลเร็นโซ่
สาวชาวนาที่ดอนกิโฆเต้แอบมีจิตปฏิพัทธ์มาเนิ่นนาน
อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นหญิงร่างสูงล่ำสัน
แข็งแกร่งบึกบึน กล้าหาญ มีขนหน้าอก
เสียงดังกึกก้อง
นางพุ่งแหลนไกลกว่าชายหนุ่มผู้แข็งแรงที่สุดในหมู่บ้าน
และมีฝีมือหมักหมูเค็มเป็นเลิศกว่าหญิงใดในแคว้นลามันช่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น